วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ผักปลอดสารพิษ ภูมิปัญญาด้านการเกษตร



                  


                        จากการละเลยด้านอาหารการกินของคนไทยสมัยปัจจุบัน โดยเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับอาหารที่ด้อยคุณค่า
เพราะหาซื้อง่ายและไม่ต้องทำเอง คนไทยยุคนี้จึงมีสุขภาพไม่แข็งแรงเท่าที่ควร ขณะเดียวกันจากสถิติก็พบว่า นับวันคนไทย
มีอายุเฉลี่ยลดลง เหตุผลประการสำคัญที่ทำให้คนไทยต้องเป็นเช่นนั้นก็เพราะขาดความรู้ด้านโภชนาการ เนื่องมาจากการ
แข่งขันทางสังคม การรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน และการอวดฉลาดในเรื่องที่ไม่รู้
พฤติกรรมการรับประทานหรือการบริโภคที่คนไทยกำลังดำเนินชีวิตอยู่ในทุกวันนี้ ยังคงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การบริโภคอาหาร
หลักให้ครบทั้ง 5 หมู่ตามโภชนา คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน เกลือแร่ และไขมัน ซึ่งมนุษย์จำเป็นต้องได้รับสารอาหาร
อย่างครบครันจึงจะทำให้สุขภาพร่างกาย แม้กระนั้น หากมีผู้คนยืนยันว่ารับประทานอาหารหลักจนครบทั้ง 5หมู่มานานแล้ว
แต่กลับมีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงเท่าที่ควร จึงคิดจะไปรับประทานอาหารตามใจปากน่าจะดีกว่า อย่างนี้ถือว่าคิดผิด เพราะต้องวิเคราะห์ลงไปถึงที่มาของหารแต่ละประเภทว่ามีคุณสมบัติสะอาดและถูก สุขลักษณะหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความ
สำคัญ คือปัจจุบันการผลิตอาหารเพื่อการบริโภคนั้น ผู้ผลิตมักเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ สิ่งที่อันตรายี่สุดก็เห็นจะเป็นการตกค้างของสารพิษที่ปะปนมากับอาหารและพืช ผัก
จากปัญหาดังกล่าว ปัจจุบันมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งที่บ้านลำพยา ในเขตอำเภอเมืองนครปฐม ทำการปลูกพืชผักปลอดสารพิษ พวกเขาหวังว่าจะมีส่วนช่วยให้ผู้คนมีโอกาส
เลือกพืชผักที่ปลอดภัยต่อการบริโภค โดยสามารถรับวิตามินที่ได้จากผักใบเขียว ไปหล่อเลี้ยงการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร
อีกทางหนึ่ง ลุงไพจิตต สันติธราภพ อดีตกำนันตำบลลำพยาวัย 73 ปี ปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้นำกรเพาะปลูกพืชผักสีเขียวประเภทปลอดสารพิษ โดยได้รับการสนับสนุนจากกรม
ส่งเสริมการเกษตรจังหวัดนครปฐม จนระยะหลังชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงได้หันมาปลูกตาม และทำให้มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะสามารถขายพืชผักได้ราคา
อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างทางเลือกให้ประชาชนอีกทางหนึ่ง ลุงไพจิตต เล่าว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ของที่นี่ดำเนินชีวิตตามแบบเกษตรกรในเขตเมืองทั่วไป เช่น ทำสวนผลไม้
สวนมะพร้าว และเลี้ยงสัตว์ประเภทสุกร ส่วนการปลูกผักก็มีอยู่มาก ในอดีตเป็นรูปแบบเดิมคือยกร่องพรวนดินและใช้ยาฆ่าแมลง เมื่อผลผลิตเติบโตเต็มที่ก็ตัดนำไปขาย
ยังตลาด โดยไม่ได้คำนึงถึงสารตกค้าง ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงในการบริโภคของผู้ซื้ออย่างมาก "สมัยนั้น ไม่ใช่ว่าเกษตรกรจะตั้งใจให้คนซื้อรับความเสี่ยงจากสารตกค้าง
แต่เป็นเพราะความไม่รู้ และไม่ได้เฉลียวใจ เห็นว่าเมื่อปลูกผักมีแมลงมาเกาะกินทำลายก็ต้องใช้ยาฆ่าแมลงหวังกำจัดศัตรู พืชเพียงอย่างเดียวแต่ลืมไปว่ามันมีสารตกค้างอยู่"

ปลูกผักปลอดสารพิษเป็นรายแรก
อดีตกำนันตำบลลำพยาเล่าต่อไปว่า จนระยะหลังประมาณ 20 ปีที่แล้วกรมส่งเสริมการเกษตรจังหวัดนครปฐม ได้เข้ามาให้
คำแนะนำถึงผลดีของการปลูกผักปลอดสารพิษ โดยทางราชการเป็นฝ่ายช่วยในเรื่องทุนบางส่วน เช่น มุ้งไนลอนคลุมแปลงผัก
ส่วนเกษตรกรซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของที่ดินก็ลงแรง เมื่อได้ผลประโยชน์ก็รับเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ต้องไปให้ทางราชการ แต่เนื่องจากวิทยาการที่หน่วยงานราชการเสนอให้ทำเป็นของแปลกใหม่ที่ชาวบ้าน ไม่คุ้นเคย ลุงไพจิตตจึงตัดสินใจทำการเกษตร
แบบใหม่ตามลำพัง โดยมีภรรยาให้ความช่วยเหลือเต็มที่ "พอเริ่มปลูกก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ระยะนั้นจะมีปัญหาอย่างเดียว
คือการตลาด เพราะผู้ซื้อยังไม่ยอมรับ และราคาของผักปลอดสารพิษสูงกว่าผักทั่วไป
จนหน่วยงานราชการโดยเฉพาะเทศบาลได้เข้ามาช่วยโดยจัดหาสถานที่จำหน่ายพืชผลทางเกษตรชนิดนี้ให้ในตลาด
และยังช่วยเขียนป้ายโฆษณาอีกทางหนึ่ง ทำให้ผู้คนเริ่มสนใจ และให้การยอมรับในที่สุด" คุณลุงผู้บุกเบิกบอกด้วยว่า จากความสำเร็จในเบื้องต้นทำให้ชาวบ้านอีกบาง
ส่วนเริ่มให้ความสนใจและทดลองทำจนปัจจุบันมีอยู่ 4 ราย แต่ละรายผลิตไม่ทันต่อการจำหน่าย

ผักปลอดสารพิษใช้สารพิษหรือไม่
่ บางคนเข้าใจว่าผักปลอดสารพิษ ต้องไม่ใช้สารพิษใด ๆ ในการบำรุงดูแลให้เจริญเติบโต ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด
เพราะแม้ว่าผักปลอดสารพิษจะปลอดภัยอย่างแน่นอน แต่กระบวนการและขั้นตอนจำเป็นต้องมีสารพิษเข้ามาเกี่ยวข้อง
จนกระทั่งพืชผักเติบโตนำไปบริโภคได้ ซึ่งแต่ละขั้นตอนผ่านกระบวนการอย่างไร จะได้กล่าวถึงต่อไปนี้ การปลูกผักปลอดสารพิษ การปลูกพืชผักต้องมีการเตรียมดินในขั้นแรกเหมือนกับการเกษตรประเภทอื่น คือ ยกแปลงดินกว้างประมาณ 1.50-2.00 เมตร
ความยาวประมาณ 10-15 เมตร จากนั้นพรวนดินให้ทั่วแปลง แล้วจึงหว่านเมล็ดพันธุ์ผัก พันธุ์ผักส่วนใหญ่ที่เกษตรกรนิยมนำ
มาปลูกได้แก่ คะน้า, ผักกาดขาว, กวางตุ้ง, กวางตุ้งไต้หวัน, ผักบุ้งจีน และผักขมจีน เป็นต้น หลังจากหว่านเมล็ดพันธุ์ผักแล้ว
โปรยฟางคลุมดินอีกชั้นเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิวหน้าดิน แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ขั้นตอนดังกล่าวนี้เกษตรกรบางรายอาจยังไม่
โรยเมล็ดพันธุ์ แต่ใช้วิธีเมื่อเสร็จสิ้นการพรวนดินแล้วทิ้งไว้ประมาณ 7 วันให้หญ้าขึ้นจากนั้นจึงใช้ยากำจัดวัชพืชฉีดลงไป เมื่อวัชพืชตายจะกลายเป็นปุ๋ยไปในตัว
จากนั้นจึงโรยเมล็ดพันธุ์ผัก เมื่อพันธุ์ผักเจริญเติบโตจะไม่มีปัญหาเรื่องวัชพืชขึ้นมาแย่งอาหาร


การดูแล
ระหว่างการปลูก เกษตรกรจะดูแลอย่างต่อเนื่อง จนหลายคนยืนยันว่าการปลูกผักปลอดสารพิษเหมือนดูแลเด็กอ่อน
เนื่องจากภายในดินจะมีแมลงและสัตว์เป็นศัตรูพืชอาศัยอยู่ ระหว่างที่พันธุ์ผักเจริญเติบโตต้องหมั่นใช้ยาฆ่าแมลงชนิดต่าง ๆ
และยูเรียอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้นการให้น้ำต้องกระทำอย่างมีขั้นตอนและต้องพอเหมาะกับพื้นที่
โดยเฉพาะการประเมินความร้อนภายในแปลงผักซึ่งปกติจะมีอุณหภูมิสูงกว่าข้างนอกเพราะถูกคลุมด้วยตาข่ายไนลอน
อย่างไรก็ตาม การเจริญเติบโตของผักจะมีกำหนดอายุการปลูก 45 วัน ดังนี้ เกษตรกรจะใช้ยาฆ่าแมลงเฉพาะในช่วงเวลา
ระหว่างวันแรกของการปลูกกล้าผักจนไปถึง 30 วัน หลังจากนั้นเกษตรกรจะหยุดการใช้ยาฆ่าแมลงและกำจัดวัชพืชทุกชนิด
เพื่อให้สารพิษที่เกาะตามผิวต้นผักและการดูดซับคลายตัวเป็นเวลาอย่างน้อย 15 วัน รวมอายุได้ 45 วันจะตัดขาย
จึงจะเรียกผักปลอดสารพิษอย่างสมบูรณ์ได

ตลาดและการจำหน่าย
ผลผลิตที่ได้ เกษตรกรจะทำการตัดโดยบางรายนำไปจำหน่ายยังตลาดในตัวเมืองนครปฐม ซึ่งลุงกำนันไพจิตตบอกว่า
ผักปลอดสารพิษ เมื่อนำไปถึงตลาดจะจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปัจจุบันคนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจในคุณภาพของ
ผักทั่วไป ที่บางต้นแม้จะมีใบสวยแต่พวกเขาเชื่อว่าไม่ปลอดภัย ส่วนผักของเกษตรกรี่ลำพยาแม้บางใบจะผุพรุนไป
บ้างแต่ก็เชื่อมั่นว่าปลอดภัย จนเกิดปัญหาผลิตไม่ทันต่อความต้องการ นอกจากนั้นเกษตรกรอีกส่วนหนึ่ง
จะจำหน่ายผักปลอดสารพิษให้กับกลุ่มบริษัทการค้าที่รับไปจำหน่ายังตลาดในเมืองใหญ่ หรือในกรุงเทพมหานคร
ตามซุปเปอร์มาเก็ต ซึ่งก็เกิดปัญหาผลิตไม่ทันเช่นกัน สำหรับราคาขายผักปลอดสารพิษ โดยเฉลี่ยในช่วงปี 2541
ผักคะน้าจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 12 บาท ผักกาดขาวกิโลกรัมละ 20 บาท กวางตุ้งกิโลกรัมละ 16 บาท กวางตุ้งไต้หวัน
กิโลกรัมละ 20 บาท และผักบุ้งจีนกิโลกรัมละ 16 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สุงกว่าผักทั่วไปถึงเท่าตัว แต่ก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง รายได้ของเกษตรกร
เกษตรกรลำพยา ยืนยันว่ารายได้จากการปลูกผักปลอดสารพิษ โดยเฉลี่ยในพื้นที่ 100 ตารางวา จะสร้างรายได้ประมาณ 2,500 บาทขึ้นไป หากมีพื้นที่มากกว่านั้น
รายได้ก็จะเพิ่มขึ้นตามส่วน แต่โดยส่วนใหญ่การปลูกผักประเภทนี้ มักทำควบคู่ไปกับการทำสวน ซึ่งเป็นผลผลิตเป็นรายได้อีกส่วนหนึ่ง และบางบ้านยังทำขนม
หรืออาหารไปจำหน่ายยังตลาด ทำให้เกิดรายได้หลายทาง จึงมีความเป็นอยู่ไม่ขัดสน ประโยชน์ต่อท้องถิ่น แน่นอนว่ากิจกรรมใดที่นำมาซึ่งรายได้ ย่อมเกิดประโยชน์


โดยรวมต่อท้องถิ่น แต่สำหรับอาชีพการปลูกผักปลอดสารพิษ เป็นงานที่ต้องอาศัยการดูแลอย่างมาก ทำให้เกษตรกรบางส่วนไม่สนใจที่จะทำโดยวิธีนี้
แต่เลือกใช้วิธีการดั้งเดิมคือการยกแปลงปลูกในที่โล่งแจ้งและใช้สารเร่งการ เจริญเติบโตควบคู่ไปกับยาฆ่าแมลง ทำให้ได้ผลผลิตที่รวดเร็วและสวย แม้จะมีราคา
จำหน่ายต่อกิโลกรัมต่ำกว่าผักปลอดสารพิษ แต่ระยะเวลาที่เร็วและความสวยงามของพืชผักก็ช่วยให้เกษตรกรไม่เดือดร้อน แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การใช้สารพิษ
หรือยาฆ่าแมลงอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้หน้าดินเสีย และเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติของบรรดาแมลงอันเป็นผลเสียในอนาคต อย่างไรก็ดี
บทพิสูจน์ถึงการปลูกผักปลอดสารพิษให้ประโยชน์ทั้งคุณภาพของหน้าดินและผลผลิต ที่ออกสู่ตลาด โดยผู้บริโภครับประโยชน์ด้านสุขภาพอย่างเต็มที่ น่าจะเป็นทาง


เลือกหนึ่งของเกษตรกร และควรยิ่งที่ผู้บริโภค หรือผู้ซื้อจะร่วมกันกำหนดการซื้อเฉพาะผักที่มีคุณภาพ ซึ่งแม้จะมีราคาสูงกว่าแต่ปลอดภัยต่อสุขภาพของตนเอง
ปัจจุบันผักปลอดสารพิษที่ตำบลลำพยา แม้จะมีการทำกันเพียงไม่กี่รายแต่ได้รับการยอมรับภายในจังหวัดนครปฐม และผู้ซื้ออีกส่วนหนึ่งในย่านเมืองใหญ่ ผักของ
ที่นี่จึงมีฐานะเป็นผลผลิตแห่งคุณภาพ และแหล่งชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของเมืองนครปฐม อนาคตและการสืบสวน เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ ผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตดั้งเดิม


จากคนรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง จนในระยะหลังราว 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศได้พัฒนาไปสู่การแข่งขันความเป็นหนึ่ง ผู้คนส่วนใหญ่แม้แต่เกษตรกรจึงทุ่มเทเงินทองให้
บุตรหลานเข้ารับการศึกษาในชั้นที่สูง

จนคนรุ่นใหม่ห่างเหินกับชีวิตชนบทและมองงานด้านการเกษตรเป็นงานเหน็ดเหนื่อยเหมาะสำหรับคนเรียนน้อยเกษตรกรรม
ของไทยจึงไม่สามารถพัฒนาไปได้อย่างเท่าที่ควรจะเป็น ผักปลอดสารพิษที่จังหวัดนครปฐมก็เช่นกัน ปัจจุบันดำเนินการทำกันอยู่เฉพาะรุ่นเก่าที่พอใจกับชีวิต
ประจำวันอย่างนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งในอาชีพที่น่าห่วงใยว่าในอนาคตอาจต้องหยุดลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น